พระกรุกำแพงถม นครศรีธรรมราช ปางปาฏิหารย์ พิมพ์ลูกเนียง

พระกรุกำแพงถม นครศรีธรรมราช ปางปาฏิหารย์ พิมพ์ลูกเนียง (พิมพ์นิยม) ขนาดประมาณ ๓.๕๐ x ๔.๒๐ ซม.เนื้อดินดิบ สมัยศรีวิชัย อีกหนึ่งกรุยุคเก่าของเมืองคอน เป็นพระเนื้อดินศิลปะศรีวิชัยยุครุ่งโรจน์ที่สุด อายุ ๑,๒๐๐ กว่าปี ที่มีลักษณะพิมพ์คล้ายกับฝาลูกเนียง จัดเป็นชื่อเรียกตามท้องถิ่น พระเครื่องกรุวัดกำแพงถม ต.นาเรียง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ยอดนิยมและหายากมากเป็นหนึ่งใน พระกรุเมืองนครศรีธรรมราช ว่ากันว่าในปี ๒๕๒๔ รถตักทรายไปโดน ไหบรรจุพระแตกไหลออกมา ณ วัดกำแพงถม ม. ๕ ต.นาเรียง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีฯ – พระกรุที่สูงค่า จึงเผยโฉมหน้า สู่สายตาสาธารณะชน และนักสะสมตั้งแต่บัดนั้น ประกอบไปด้วย พิมพ์กลม (พิมพ์นิยม-เรีียกลูกเนียงหรือเปลือกลูกเนียง)และพิมพ์ รูปไข่ พบพระมากที่สุด มีพิมพ์สี่เหลี่ยมองค์ใหญ่ที่สุด และ พิมพ์สี่เหลี่ยมปลายมน โดยเฉพาะพระพิมพ์สี่เหลี่ยมมีขนาดใหญ่ที่สุด ประมาณ ๓x๓.๕ นิ้ว เป็นพระปางปาฏิหาริย์ ศิลปะสมัยศรีวิชัยทั้งหมด พระบางองค์ด้านหลังยังมีอักขระอีกด้วย พิมพ์กลม และพิมพ์รูปไข่ ซึ่งพระ ๒ พิมพ์หลังพบจำนวนมากกว่าพิมพ์สี่เหลี่ยม และเรียกว่า “ลูกเนียง” หรือบางท่านเรียกว่า “เปลือกลูกเนียง” ส่วนนอกนั้นยังไม่ได้มีการตั้งชื่อแต่อย่างใด พระทุกพิมพ์ที่พบมีเฉพาะ พระเนื้อดิน เท่านั้น ส่วนมากเป็นสีนวล (เหลืองอ่อน) บางองค์สีขาว ทั้งหมดเป็นเนื้อดินดิบและดินเผาคละปะปนกัน เป็นพระพิมพ์ตามความเชื่อลัทธิมหายาน เป็นพระกรุอีกพิมพ์ที่มีน้อยราคาสูง พุทธคุณพระกรุกำแพงถมเด่นด้านคงกระพัน สุดยอดพระเครื่องเมืองนคร ส่วนองค์นี้สภาพสวยสมบูรณ์พบเจอยากมากๆ อีกหน่อยจะเห็นแต่รูปภาพหายากน่าเก็บน่าใช้ **************************************************************************************************************************************************** พระกรุกำแพงถม พิมพ์ลูกเนียง จ.นครศรีธรรมราช เป็นพระ ยุคศรีวิชัย ประมาณ พุทธศตรวรรษ ที่ ๑๔-๑๕ นับเป็นพระยุคแรกๆ ของเมืองไทย เช่นเดียวกับ พระรอดกรุมหาวัน ที่ มีการสร้างในเวลา ใกล้เคียงกัน แต่มีความสำคัญยิ่ง เพราะ นับเป็น ยุคที่ศาสนาพุทธ มีการเผยแผ่เจริญมาถึง ดินแดน สยาม ที่ดินแดน นครปฐม โดยพระ โสณะ และ พระอุตตระ ในตอนนั้น ที่ยังไม่ได้รวมประเทศ ทางนครศรีธรรมราช ยังอยู่ ในอาณาจักรศรีวิชัย ชื่อ ตามพรลิงค์ ตามตำนานการสร้างพระธาตุ กล่าวถึง พระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมารพระธิดาและพระโอรสอัญเชิญพระทันตธาตุ ลงเรือหนีไปลังกา เผอิญเรือกำปั่นถูกพายุพัด เรือแตกทั้งสองพระองค์มา ขึ้นฝั่ง ณ หาดทรายแก้ว แล้วฝังพระทันตธาตุไว้ เรื่องราวดำเนินต่อไปจนทั้งสองพระองค์ได้กลับไปลังกา โดยมีพระทันตธาตุส่วนหนึ่งยังฝังอยู่ที่หาดทรายแก้ว ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้มาพบพระทันตธาตุและโปรดให้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และสร้างเมือง ณ หาดทรายแก้วจนสำเร็จเมืองดังกล่าวก็คือ เมืองนครศรีธรรมราชพระบรมธาตุเจดีย์ก็คือ พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ซึ่งเชื่อกันว่าเดิมเป็นเจดีย์แบบ อิทธิพลศิลปะ ศรีวิชัย คือเป็นเจดีย์ทรงมณฑป มีหลังคาเป็น สถูปห้ายอดคล้ายพระบรมธาตุเจดีย์ที่อำเภอไชยา ของสุราษฎร์ธานี อายุการสร้าง ในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ นับว่า เป็นพระกรุที่มีความสำคัญ เนื่องจาก การสร้างพร้อม ๆ กับการสร้าง ถาวรศาสนะสถานที่สำคัญ ยุคเดียวกัน ที่่ถึงยุค และ เป็นวัตถุมงคล เพื่อสืบทอดพระศาสนา ในยุคนั้น พิมพ์ลูกเนียง ที่ยัง เหลือไว้เป็นองค์สมบูรณ์ ณ ปัจจุบันนี้ หายากจริงๆ ว่ากันตามจริงยังมีพระพิมพ์ทรงอื่นที่ขุดได้จากกรุเดียวกัน แต่หยิบยกมากล่าวถึงแต่เพียงพิมพ์ลูกเนียงนี้ ที่เรียกกันว่า พิมพ์ลูกเนียง ก็ด้วยเหตุผลของสัณฐานพิมพ์ทรงที่คล้ายคลึงกับลูกเนียง ผลของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ นำมากินแนมแบบผักกับน้ำพริก แกงเผ็ด หรือขนมจีน พุทธลักษณะของพระกรุวัดกำแพงถม ‘พิมพ์ลูกเนียง’ มีรูปทรงกลมรีคล้ายรูปไข่ ขอบหรือกรอบคล้ายกระด้ง มีรูปองคืพระพุทธปฏิมากรประทับนั่งห้อยพระบาท ด้านข้างมีองค์พระอัครสาวกซ้ายขวาประทับยืนปางลีลา ทั้งสามองค์ที่พระเศียรมีประภามณฑล ใต้ขอบด้านบนเหนือประภามณฑลปรากฏตัวอักษร ‘เย ธมฺมา’ ที่จารึกเป็นภาษาสันสกฤตเขียนด้วยตัวอักษรนาครีที่ใช้อยู่ในอินเดียฝ่ายเหนือ ยังมีพระพิมพ์อีกพิมพ์ทรงหนึ่ง ซึ่งมีองค์พระพุทธปฏิมากรเพียงองค์เดียว ที่พระเศียรมีประภามณฑล ลักษณะพิมพ์ทรงกลมรีคล้ายรูปไข่ ด้านหลังอูมนูน พระพิมพ์ลูกเนียง เป็นพระเครื่องที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย ลักษณะของเนื้อดินนั้นเป็นเนื้อดินดิบ ไม่ผ่านการเผาไฟ ทั้งนี้เนื่องเพราะคติการสร้างเป็นแบบมหายาน ซึ่งเมื่อพระสงฆ์เถระผู้เป็นอาจารย์มรณภาพลงแล้ว ครั้นเผาศพของท่านเรียบร้อยแล้ว บรรดาศิษย์เหล่านี้จึงนำอัฐิธาตุของท่านมาป่นคลุกเคล้ากับดิน แล้วจึงพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าบ้าง รูปพระโพธิสัตว์บ้าง ในอิริยาบถปางต่างๆ ไว้ เพื่อเป็นปรมัตถ์ประโยชน์แก่ผู้มรณภาพ และเมื่อได้เผาไปแล้วหนหนึ่ง จึงไม่เผาพระพิมพ์อีกครั้ง จากการนำพระพิมพ์ดินดิบไปตรวจสอบพบว่า ในดินนั้นมีธาตุฟอสเฟตอันเกิดจากการะดูก พระกรุกำแพงถมนี้ แตกกรุเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ที่บ้านกำแพงถม ตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณ ทั้งนี้เนื่องเพราะมีการขุดค้นพบแนวกำแพงเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมคงเป็นกำแพงดินแล้วต่อเติมดัดแปลงเป็นกำแพงอิฐบางส่วน ชาวบ้านเรียกขานกันว่า ‘กำแพงถม’ บ้างเรียก ‘กำแพงเซา’ บ้างเรียก “กำแพงโคก’ บ้างเรียก ‘กำแพงสูง’ กำแพงด้านในและด้านนอกยังปรากฏวัดโบราณหลายวัด เช่น วัดโท ซึ่งปัจจุบันยังคงสถานะเป็นวัดอยู่ วัดหัวตะลิ่ง ร้างไปแล้ว วัดนารอบ ร้างไปแล้ว วัดกำแพงถม ยังคงมีสถานะเป็นวัดอยู่ วัดสระบัว หรือวัดสระโบสถ์ เป็นวัดร้าง วัดป่าไหม้ เป็นวัดร้าง วัดปากลา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งไปรษณีย์ วัดมะม่วงปลายแขน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งเรือนจำ วัดจอมล้าน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนเมือง วัดหญ้า ปัจจุบันยังคงสถานะเป็นวัดอยู่ การแตกกรุนั้นสืบเนื่องมาจากเจ้าของที่ดินในบริเวณบ้านกำแพงถม ตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เห็นว่าพื้นที่ดินของตนเป็นทรายล้วน จึงคิดจะขุดทรายขายเพื่อนบ้านใกล้เคียง จึงได้ว่าจ้างรถแทร็กเตอร์มาขุด ขณะขุดลงไปก็พบหม้อดิน และอิฐโบราณ และได้พบพระเครื่องกรุวัดกำแพงถม เป็นพระเครื่องเนื้อดินดิบ มีทั้งแบบเนื้อแกร่งและเนื้อยุ่ย เข้าใจว่าคงถูกความชื้นในพื้นดิน กระนั้นก็ยังคงแยกแยะเป็นสีสันของเนื้อดินได้หลายสี คือ มีทั้งสีขาวอมเหลือง สีขาวดินดิบ สีเทาอมขาว และสีดำ นครศรีธรรมราชนั้น เป็นเมืองเก่าโบราณเมืองหนึ่งของไทย จากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และตำนานเมือง พอประมารได้ว่า เดิมเมืองนครศรีธรรมราชเป็นชุมชนเล็กๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ โดยพวกพราหมณ์จากอินเดียเดินทางโดยเรือเข้ามาติดต่อค้าขายอยู่เสมอๆ ในคัมภีร์มหานิเทศ ‘ติสฺสเมตฺเตยฺยสูตร’ ว่า ‘ตมฺพลิงคม’ และในจดหมายเหตุของจีนเรียกว่า ‘ตั้งมาหลิ่ง’ และในศิลาจารึกที่พบที่เมืองไชยา เรียกว่า ‘ตามพรลิงค์’ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๘ นครศรีธรรมราชตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย ก่อนจะกลับมาเป็นอิสระอีกครั้งเมื่อพระเจ้าจันทรภานุ กษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งนครศรีธรรมราชได้ตั้งตนเป็นอิสระและล้มล้างอิทธิพลของศรีวิชัยในเมืองนครศรีธรรมราชได้เป็นผลสำเร็จ







โดยสมาชิก ชื่อ สหรัฐ เยี่ยงกุลเชาว์
จากกลุ่ม ชมรมพระเครื่องเมืองใต้@นครศรีฯ@สุราษฎร์@ทั่วไป…