#พระกลีบบัว วัดลิงขบ สภาพพอสวยเลี่ยมเงินพร้อมห้อยคอ

#พระกลีบบัว วัดลิงขบ สภาพพอสวยเลี่ยมเงินพร้อมห้อยคอ
…”พระกลีบบัว วัดลิงขบ ธนบุรี” เป็นพระกรุเก่ากรุหนึ่งที่มีอายุการสร้างกว่า 100 ปี วัดลิงขบ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน ชื่อทางราชการคือ วัดบวรมงคล เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชั้นราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางพลัด ธนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีชาวรามัญ (มอญ) อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ส่วนหนึ่งทรงกำหนดให้อยู่ในบริเวณ วัดลิงขบ นี้ด้วย
วัดนี้ กรมพระยาราชวังบวรสถานมงคลมหาเสนานุรักษ์ พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 2 ได้ทรงสถาปนา วัดลิงขบ ขึ้นเป็นพระอารามหลวง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดบวรมงคล เป็นวัดรามัญ มีพระราชาคณะฝ่ายรามัญเป็นเจ้าอาวาสติดต่อกันมาหลายปี จนถึงปี 2462 สภาพวัดทรุดโทรมมาก พระรามัญมาอยู่น้อย จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงวัดนี้ให้เป็นวัดทางธรรมยุต จนถึงทุกวันนี้
พระกลีบบัว วัดลิงขบ เป็นพระเนื้อดินเผา สร้างขึ้นโดย พระสุเมธาสจารย์ (ศรี) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูราชปริศ และรักษาการเจ้าอาวาสวัดลิงขบ เมื่อปี 2410 ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดเป็นการใหญ่ และได้สร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่ง พร้อมกับบรรจุพระพุทธรูป พระเครื่องและสิ่งของมีค่าต่างๆ เอาไว้ในองค์เจดีย์ พระเครื่องที่บรรจุไว้นั้นคือ พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา เพื่อเป็นการสืบพระศาสนา โดยมีพระเถราจารย์ผู้เรืองเวทวิทยาคมในสมัยนั้นหลายท่านร่วมพิธีปลุกเสก โดยเชื่อกันว่ามี เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ธนบุรี ปลุกเสกให้ด้วย

พระพิมพ์กลีบบัว กรุวัดลิงขบนี้แตกกรุเมื่อเดือนมีนาคม 2509 โดยมีผู้ลักลอบขุดกรุพระ วัดลิงขบที่องค์เจดีย์ได้พระออกไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาวัดได้เปิดกรุ พระกรุวัดลิงขบขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2509 เนื่องจากพระพิมพ์นี้มีจำนวนมาก พระกรุวัดลิงขบสมัยหนึ่งจึงเช่าหากันองค์ละไม่กี่ร้อยบาท แต่ทุกวันนี้ราคาแพงขึ้นตามลำดับ องค์สวยๆ เช่าหากันเป็นพันเป็นหมื่นก็มี ขนาดองค์กว้างประมาณ 1.9 ซม. สูง 2.9 ซม. พระพุทธคุณ ดีเด่นทางเมตตามหานิยม ป้องกันคุณไสย และสัตว์มีพิษทั้งหลาย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ พระวัดลิงขบเป็นพระเครื่องที่มีอายุความเก่ากว่า 140 ปี เป็นการสร้างขึ้นโดย พระเกจิอาจารย์รามัญ (มอญ) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมอันแก่กล้ามาโดยตลอด และได้สืบทอดวิทยายุทธ์ตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาจนถึงทุกวันนี้




โดยสมาชิก ชื่อ Wuttichai Kerler
จากกลุ่ม จากกลุ่มเฟสบุ๊ค นิยมไทยพระเครื่อง