วันจันทร์ ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565 มากราบสักการะ พระปร

วันจันทร์ ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565 มากราบสักการะ พระประธานยิ้มรับฟ้า และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ณ วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ

วันนี้เลยถือโอกาสลงบทความ เรื่อง “สมณศักดิ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ” เพื่อระลึกนึกถึง เจ้าประคุณสมเด็จโตฯ

“สมณศักดิ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ”

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) และสมเด็จพระสังฆราช (สุก) จนได้เป็นเปรียญยก #แต่ไม่ปรากฎว่าเป็นเปรียญอะไร เพราะปรากฎรายนามพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน และสดับปกรณ์รายร้อย ในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่ ๓ ว่า “มหาโต เปรียญยก” คนทั่วไปเรียกกันว่า “พระมหาโต” จึงสันนิษฐานได้ว่าท่านมีความรู้เทียบเท่าเปรียญ แต่ไม่ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงทรงแต่งตั้งเป็นเปรียญยก เข้าใจว่าเป็นเปรียญ ๔ และในสมัยรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๓ ทรงให้เป็นกรรมการสอบพระปริยัติธรรม ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ก็ด้วยเป็นผู้มีความรู้พระปริยัติธรรมนั่นเอง

๏ เป็นพระราชาคณะ
ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะตั้งเป็นพระราชาคณะ แต่ท่านทูลขอไว้เสียก่อน ด้วยเหตุที่ท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์อันใด จึงไม่เข้าแปลพระปริยัติธรรม จึงทรงแต่งตั้งเป็นเปรียญยกตลอดรัชกาล

ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อมใสเป็นอย่างมาก จึงพระราชทานสมณศักดิ์ตั้ง “พระมหาโต เปรียญยก วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพระราชาคณะที่ “พระธรรมกิติ” เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ เวลานั้นท่านมีอายุได้ ๖๕ ปี และโปรดให้เพิ่มนิตยภัตรเพิ่มอีก ๒ บาท เป็นเดือนละ ๔ ตำลึง ๒ บาท

ต่อมาในปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพกระวี ดังมีสำเนาเลื่อนดังนี้

“ให้เลื่อนพระธรรมกิติ ขึ้นเปนพระเทพกระวี มีนิจภัตร ราคาเดือนละ ๔ ตำลึง ๒ บาท ตั้งเเต่วันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีขาล ฉศก พุทธศาสนกาล ๒๓๙๗”

ภายหลังสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศฯ มรณภาพลง จึงโปรดสถาปนาขึ้นดำรงตำเเหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ มีสำเนาประกาศทรงสถาปนาดังนี้

“ศิริศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงเเล้ว ๒๔๐๗ พรรษา ปัตยุบันกาล อุนทรสังวัจฉรบุศยมาศสุกรปักษ์นวมีดิถีครุวารปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาบพิตร ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำริห์ว่า พระเทพกระวี มีพรรษายุกาลประกอบด้วยรัตตัญญูมหาเถรธรรมยั่งยืนนาน แลมีปฏิภาณปรีชาตรีปิฎกกลาโกศล เเลฉลาดในโวหารนิพนธ์เทศนาปริวัติวิธี แลทำกิจในสุตนั้นด้วยดีไม่ย่อหย่อน อุสาหสั่งสอนพระภิกษุสามเณรโดยสมควร อนึ่ง ไม่เกียจคร้านในราชกิจบำรุงพระบรมราชศรัทธาฉลองพระเดชพระคุณเวลานั้นๆ สมควรเป็นที่อรัญญิกมหาสมณคณิศราจารย์พระราชาคณะผู้ใหญ่ มีอิศริยยศยิ่งกว่าสมณนิกรฝ่ายอรัญวาสี เป็นอธิบดีครุฐานิยพิเศษ ควรสักการบูชาแห่งนานาเนกบรรพสัช บรรดารนับถือพระบรมพุทธสาสนาได้ จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ บัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเทพกระวี ศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกปรีชา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี เลื่อนที่ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธิจรรยาสมบัติ นิพัทธธุตคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิตย์ ณ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระอารามหลวง มีนิจภัตรราคาเดือนละ ๕ ตำลึง มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัด มีนิจภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๑ บาท ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสัททสุนทร ๑ พระครูอมรโฆสิต ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ พระครูธรรมรักขิต ๑”

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานอัญเชิญหิรัญบัฏมาพระราชทานเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานนิตยภัตรเพิ่มอีก ๑ ตำลึง รวมเป็น ๖ ตำลึง

หมายเหตุ ส่วนที่เป็นสำเนาประกาศทั้งหมดนี้ คัดข้อความจากต้นฉบับ พัดยศ สมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย







โดยสมาชิก ชื่อ มะ อะ อุ
จากกลุ่ม เครื่องราง พระเครื่อง เมืองไทย