บารมีทวดห​มาน​ วัดทรายขาว​ จ.ปัตตานี

ประวัติหลวงพ่อทวด

บารมีทวดห​มาน​ วัดทรายขาว​ จ.ปัตตานี

ประวัติหลวงพ่อทวดหมาน
อดีตเจ้าอาวาส วัดทรายขาว จ.ปัตตานี
เมื่อประมาณ 100 กว่าปีล่วงมาแล้ว เดิมท่านนั้นนับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาท่านเกิดเลื่อมใสในพุทธศาสนาจึงได้บวชเป็นพระภิกษุ และต่อมาได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดทรายขาว “พ่อทวดหมาน” เป็นพระผู้ทรงบุญญาภินิหาร และวิทยาคมเข้มขลัง เจ้าตำรับ“เสื้อยันต์กาขาว” อันเลื่องชื่อ โดยมีเรื่องเล่าว่าในปี พ.ศ.2484 กองทัพญีปุ่นได้บุกเข้ายึดประเทศไทย โดยยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดปัตตานีด้วย และได้เกิดการต่อสู้กันขึ้นระหว่างตำรวจ และประชาชนผู้รักชาติกับทหารญี่ปุ่น ได้มีตำรวจนายหนึ่งได้สวมใส่ “เสื้อยันต์กา” ขาวของ ..หลวงพ่อทวดหมาน .. เอาปืนปีนขึ้นไปอยู่บนต้นมะพร้าว แล้วยิงทหารญี่ปุ่นตายไปหลายคน ทหารญี่ปุ่นพยายามมองหาว่าใครเป็นคนยิง และยิงมาจากจุดไหน ในที่สุดก็ได้พบว่า ตำรวจไทย ยิงปืนลงมาจากต้นมะพร้าว ทหารญี่ปุ่นจึงยิงปืนสวนขึ้นไปบนต้นมะพร้าว ถูกตำรวจผู้นั้นตกลงมาจากต้นมะพร้าว แต่ปืนของทหารญี่ปุ่น ซึ่งยิงปืนไล่หลังมาอีกหลายนัด แต่ก็ไม่ถูกตัว ทำให้รอดชีวิตมาได้

ด้วยประสบการณ์ อิทธิฤทธิ์เดชา เกิดอัครอภินิหาร บันลือเลื่องใน “เสื้อยันต์กาขาว” ของหลวงพ่อทวดหมาน คนปัตตานีจึงหวงแหนกันมาก เพราะลือลั่นในด้านอมตะกฤษฎาภินิหาร สยบห่ากระสุน M.16 อสัญญีพิษสง ระเบิดสงคราม อีกทั้งสร้างสมความร่ำรวยให้ผู้ศรัทธานับไม่ถ้วน

สาธุชนผู้เคารพศรัทธาประจักษ์เห็นในบุญญาภินิหารหลากหลายรอบด้าน กิตติศัพท์ของ “หลวงพ่อทวดหมาน” เป็นที่ลือเลื่องสถิตก้อง และเลื่อมใสของชาวบ้านทั่วทั้งจังหวัดปัตตานี

สถูปบรรจุอัฐิของ “หลวงพ่อทวดหมาน” ได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดทรายขาว จ.ปัตตานี
ให้ผู้เคารพศัรทธาที่เดินทางไป ได้กราบไหว้สักการบูชา

สำหรับ วัตถุมงคล – พระเครื่อง “หลวงพ่อทวดหมาน” นั้น มีการจัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2505-ปีพ.ศ.2506 ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ครั้งแรก” และ “รุ่นแรก” ของวัดทรายขาวเลยก็ว่าได้ โดย ท่านอาจารย์ทิม แห่งวัดช้างให้ ผู้ซึ่งเป็นพระสหธรรมิก กับท่านอาจารย์นอง แห่งวัดทรายขาว ตลอดจนเป็นศิษย์ สำนักนาประดู่เช่นเดียวกันอีกด้วย ได้เป็นประธานดำเนินการจัดสร้าง และกดแม่พิมพ์พระเป็นปฐมฤกษ์ด้วยตนเอง โดยกดพิมพ์พระทั้งหมดที่วัดช้างให้ ควบคู่ไปกับพระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ เนื้อว่านปี พ.ศ.2505 หรือ”รุ่นพินัยกรรม”ของท่านอาจารย์ทิม ที่กำลังโด่งดังในขณะนี้นั่นเอง และได้ประกอบพิธีปลุกเสกอย่างเข้มขลังไปพร้อมๆกันทั้ง 2 พิมพ์ทรง

โดยได้ประกอบพิธีบวงสรวงอันเชิญดวงวิญญาณของ หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด, หลวงพ่อทวดไกร, หลวงพ่อทวดลิ้นดำ, หลวงพ่อทวดสิทธิชัย และหลวงพ่อทวดหมาน ประทับสู่อาสนะในปะรำพิธี เพื่อเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ อุโบสถวัดช้างให้ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 ไตรมาส ต่อจากนั้นก็นำไปประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ อุโบสถมาหาอุด ของวัดทรายขาว เป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 ไตรมาส เฉกเช่นเดียวกัน และหลังจากนั้น ท่านอาจารย์ทิม ก็ได้นำพระทั้งหมดกลับไปประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ อุโบสถวัดช้างให้ อีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ปีขาล ซึ่งถือว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุดของวัดช้างให้

ครั้นพิธีพุทธาภิเษกได้เสร็จสิ้นลง ท่านอาจารย์ทิม ก็ได้เก็บพระทั้งหมดไว้ในอุโบสถวัดช้างให้และทำการปลุกเสกเรื่อยมา เพื่อรอมงคลโอกาสอันสำคัญ จนถึงปี พ.ศ. 2506 ท่านอาจารย์ทิม จึงได้นำพระทั้งหมดย้อนกลับไปประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ อุโบสถมหาอุด ของวัดทรายขาว อีกครั้งหนึ่ง เป็นระยะเวลานานถึง 3 ไตรมาส อีกคำรบหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายในการประกอบพิธีพุทธาภิเษก “พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่าน ปี พ.ศ. 2505 หรือ รุ่นพินัยกรรม” และ “พระหลวงพ่อทวดหมาน เนื้อว่านรุ่นแรก”

เมื่อพิธีพุทธาภิเษกครั้งสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2506 ได้เสร็จสิ้นลง ท่านอาจารย์ทิมก็ได้นำ”พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่าน ปีพ.ศ. 2505 หรือ “รุ่นพินัยกรรม” ทั้งหมด และ “พระหลวงพ่อทวดหมาน” ส่วนหนึ่งนำกลับไปไว้ยังวัดช้างให้ ส่วน “พระหลวงพ่อทวดหมาน” ในส่วนที่เหลือ ท่านอาจารย์ทิม ได้มอบให้เป็น”พินัยกรรม” แต่ท่านอาจารย์นอง แห่งวัดทรายขาว โดยมีปณิธานว่าให้นำออกให้ผู้เคารพศรัทธาเช่าบูชา ก็ต่อเมื่อต้องการปัจจัย – รายได้ เป็นทุนทรัพย์ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดทรายขาว จ.ปัตตานี ต่อไปในภายภาคหน้า

ครั้นเมื่อ ท่านอาจารย์นอง แห่งวัดทรายขาว ได้รับมอบ “พระพินัยกรรม” หรือ “พระหลวงพ่อทวดหมาน” จากท่านอาจารย์ทิม แห่งวัดช้างให้แล้ว ท่านอาจารย์นอง ก็ได้นำ “พระหลวงพ่อทวดหมาน” ทั้งหมดมาเก็บไว้ที่วัดทรายขาว…และก็ได้นำพระบางส่วนมาแจกให้กับลูกศิษย์ และคนใกล้ชิดที่ได้ทำบุญในกรณีพิเศษกับท่าน อ.นอง ส่วนที่เหลือก็ได้เข้าร่วม พิธีพุทธาภิเษกกับพระหลวงพ่อทวดที่ท่าน อ.นองได้จัดสร้างขึ้นมา ตั้งแต่ ปี2514 และเรื่อยมาจนถึงปี2542…จนท่านได้มรณะภาพลง…เพราะฉนั้นจึงถือได้ว่าเป็น พระที่ได้เข้าพิธีมาร่วม50ปี…ที่ยาวนานมากๆ…

น้อมกราบ​ สาธุ​ สาธุ​ สาธุ​ ครับ
เครดิต:เล่าเรื่องพระ



โดยสมาชิก ชื่อ Chatchon Phanrerk
จากกลุ่ม เครื่องราง พระเครื่อง เมืองไทย