แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

…#มุขปาฐะเรื่องพระซุ้มกอล้านนา
…@ในช่วงที่พระซุ้มกอล้านนา กรุหนองไคร้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ แตกกรุใหม่ๆ (ราวปีพศ.2533) ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าจากคุณลุงเสมอ บรรจง(ผู้คร่ำหวอดในวงการพระเครื่องจังหวัดเชียงใหม่) เล่าให้ฟังว่าพระพิมพ์นี้ ได้เคยแตกกรุออกมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณปีสองพันห้าร้อยต้นๆ โดยแตกออกมาจากกรุวัด”เก้าถ้าน” ซึ่งเป็นวัดร้าง ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตำบลสุเทพ บริเวณเชิงดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผมลองไปค้นดูรายละเอียดในหนังสือ”วัดร้างในเมืองเชียงใหม่” ซึ่งเป็นงานเขียนของอาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อธิบายไว้ว่าวัด”เก้าถ้าน” สร้างโดยพระมหาเมธังกร ซึ่งเป็นพระมหาเถราจารย์ในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ ราชวงศ์มังราย (พศ.1984-2030) ซึ่งถือว่าพระองค์ทรงเป็นมหาราชของล้านนา เพราะสามารถขยายอาณาเขตของบ้านเมืองออกไปได้กว้างไกล โดยทิศตะวันตกและทิศเหนือตีได้รัฐฉานไทใหญ่ไปถึงเวียงเชียงรุ่ง12พันนา ทิศตะวันออกตีได้เมืองน่านไปถึงหลวงพระบาง ทิศใต้ขยายลงไปถึงสวรรคโลก สุโขทัยและกำแพงเพชร จนกระทั่งพระบรมไตรโลกนาถของกรุงศรีอยุธยาต้องเสด็จขึ้นไปประทับที่เมืองพิษณุโลก เพราะพระองค์ทรงกังวลถึงการขยายอำนาจของอาณาจักรล้านนา
…@เคยมีผู้สันนิษฐานไว้ว่าพระซุ้มกอล้านนา น่าจะได้รับอิทธิพลจากพระกำแพงซุ้มกอของเมืองกำแพงเพชร
ก็คงไม่ผิดนะครับ เพราะพุทธลักษณะคล้ายกันมาก เป็นพระนั่งปางสมาธิ นั่งแบบขัดราบเหมือนกัน
และมีรายกนกเป็นซุ้มครอบเป็นต้น (แตกต่างจากพระในศิลปะของลำพูนและเชียงแสน-ล้านนา ซึ่งจะนั่งแบบมารวิชัยและขัดสมาธิเพชร เช่นพระสิงห์1-3และพระสกุลลำพูน)

…@สันนิษฐานว่าพระซุ้มกอล้านนา น่าจะสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังรายแห่งเชียงใหม่ โดยมหาเถราจารย์ผู้ทรงคุณอันวิเศษในสมัยนั้น ซึ่งมีมากมายหลายท่าน ทั้งที่อยู่ในนิกายวัดป่าแดงมหาวิหาร และนิกายวัดสวนดอกบุพพาราม และได้มีการบรรจุกรุไว้หลายแห่ง ทั้งที่วัดเก้าถ้านและวัดหนองไคร้…

@..ปัจจุบันพระซุ้มกอล้านนา น่าจะมีอายุนับได้เกิน500ปีขึ้นไป…
จึงถือได้ว่า”พระซุ้มกอล้านนา” เป็นพระกรุของเมืองเชียงใหม่ที่มีอายุลึกถึงยุค มีประวัติค่อนข้างชัดเจน เป็นพระกรุที่น่าใช้และน่าสะสมอีกพิมพ์หนึ่งครับ…





โดยสมาชิก ชื่อ Kobkit Pan-ong
จากกลุ่ม ชมรมพระเครื่องจังหวัดเชียงใหม่(เช่าและประมูล)คนบ่เก่า