“หลวงพ่อเนียม วัดน้อย” อมตะเถราจารย์แห่งเมืองสุพรรณบุรี

“หลวงพ่อเนียม วัดน้อย” อมตะเถราจารย์แห่งเมืองสุพรรณบุรี

หลวงพ่อเนียม อมตะเถราจารย์แห่งเมืองสุพรรณบุรี ผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏ ทั้งวาจาสิทธิ์ ญาณวิเศษรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ย่นระยะทาง ฯลฯ เป็นที่เลื่องลือเล่าขานสืบต่อกันมา นับเป็นสุดยอดของพระเถราจารย์ที่คนสุพรรณรุ่นเก่าให้ความเคารพบูชามาก บางคนถึงกับกล่าวว่า ‘ท่านเป็นเสมือนท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ของเมืองสุพรรณ’ ทีเดียว แม้ สมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และ หลวงพ่อทับ วัดทอง ยอดพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังแห่งยุค ยังให้ความเคารพนับถือ และสะสมพระเครื่องของท่านไว้

หลวงพ่อเนียมเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2370 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านป่าพฤกษ์ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาท่านบรรพชาเป็นสามเณร กระทั่งอายุครบเกณฑ์อุปสมบท จึงอุปสมบท (สันนิษฐานว่าเป็นวัดป่าพฤกษ์ อันเป็นวัดบ้านเกิดใกล้บ้านท่าน) ภายหลังได้ศึกษาพระธรรมวินัยและมูลกัจจายน์ ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร (ดังปรากฏหลักฐานนามท่านในบัญชีรายนามพระภิกษุที่จำวัดมหาธาตุฯ) และสันนิษฐานกันว่าท่านเคยไปพำนักจำพรรษา ศึกษาวิชาความรู้จากวัดระฆังโฆษิตาราม ในสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังษี) อีกด้วย กระทั่งเมื่อมีอายุประมาณ40ปีจึงเดินทางกลับบ้านเกิดจำพรรษาอยู่วัดรอเจริญ เกิดขัดกับเจ้าอาวาส สุดท้ายจึงย้ายมาจำพรรษาอยู่วัดน้อย บูรณปฏิสังขรณ์วัดน้อยจากวัดร้าง ให้เป็นวัดที่เจริญขึ้นมาใหม่

ท่านมรณภาพในลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางไสยาสน์นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ตรงกับปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริอายุได้ 80 ปี อยู่ในสมณเพศได้ 60 พรรษา

หลวงพ่อเนียมมีความสนใจในทางวิปัสสนาธุระ ท่านช่วยให้การศึกษาแก่ศิษยานุศิษย์อย่างเต็มที่ ท่านมีชื่อเสียงในการรักษาโรคต่าง ๆ สามารถมองเห็นเหตุการณ์ต่างๆข้างหน้าได้อย่างตาทิพย์ การถ่ายรูปท่านว่ากันว่าถ่ายไม่ติด พระเณรที่ประพฤติผิดวินัย ท่านสามารถทราบได้เองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกท่านมีเรื่องเล่าในกฤษดาภินิหารต่างๆ ท่านเป็นผู้ที่ความเมตตาต่อสัตว์ทุกชนิด กิจวัตรของท่านก็คือ ตื่นแต่เช้ามืด ครองจีวรแล้วปลงอาบัติ เสร็จแล้วนั่งสนทนากับพระภิกษุในวัดเป็นการอบรมไปในตัว พ่อรุ่งเช้าจึงออกบิณฑบาตโปรดญาติโยม กลับมาฉันภัตตาหาร แล้วจะนำอาหารไปเลี้ยงสัตว์ต่างๆที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยวัด

ท่านยังเป็นปรมาจารย์ของพระอมตะเถระหลายรูปผู้สืบสายพุทธาคม อาทิ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น เชื่อกันว่า ‘วิชาธรรมกาย’ สายหลวงพ่อสด และ ‘วิชามโนมยิทธิ’ สายหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ อันมีส่วนคล้ายคลึงกันในเรื่องของญาณสมาธินั้น ก็มีต้นกำเนิดมาจากหลวงพ่อเนียม ที่รับช่วงกันมาโดย หลวงพ่อโหน่ง และ หลวงพ่อปาน ผู้เป็นศิษย์ และส่งต่อมาถึงหลวงพ่อสดและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำนั่นเอง

ในด้านพระเครื่องนั้นเป็นที่โดงดังทั้วสารทิศ เป็นที่รู้จักทั้งในและนอกวงการพระเครื่อง ว่ามีคุณวิเศษมากมายในด้านแคล้วคลาด คงกระพันและเมตตามหานิยม โดยการสร้างพระในสมัยก่อนการทำปรอทให้แข็งไม่ใช่ของง่ายนัก ว่ากันว่าต้องใช้คาถาอาคม ทั้งต้องทำในฤดูฝนฤดูเดียวเท่านั้น เพราะพืชบางอย่าง เช่น ใบแตงหนู ซึ่งขึ้นในท้องนา จะขึ้นในฤดูฝน ส่วนผสมต่างๆ มีใบสลอด, ข้าวสุกหลวงพ่อท่านเอาของสามอย่างมาโขลกปนกันเพื่อไล่ขี้ปรอทออกให้หมด ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปรอทขาวที่สุด การโขลกจะต้องโขลกและกวนอยู่ถึง ๗ วัน จึงจะเข้ากัน พอครบ ๗ วันเอาไปตากแดดเสร็จแล้วนำเอาไปกวนต่อจนเข้ากันดี จึงทำการแยกชั่งเป็นส่วน ๆ ส่วนละหนึ่งบาทต่อจากนั้นเอาไปใส่ครกหิน เติมกำมะถันและจุนสีโขลกตำให้เข้ากัน โดยใช้เวลาทำตอนกลางคืนเท่านั้น ทำเช่นนั้นอยู่ ๓ คืนจึงเอาปรอทใส่ลงไปในกระปุกเหล้าเกาเหลียง ผสมกับตะกั่วเอาเข้าไฟสุมอยู่ถึง 7 วัน บางครั้งอุณหภูมิ สูงจัด กระปุกเหล้าเกาเหลียงแตกเสียหายก็มี การสุมไฟสุมเฉพาะเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนทำพิธีปลุกเสกด้วยคาถาอาคม พอครบ ๗ ไฟเทลงในแม่พิมพ์จึงจะได้พระตามที่ต้องการ







โดยสมาชิก ชื่อ มะ อะ อุ
จากกลุ่ม ชมรมผู้นิยมพระเครื่องเบญจภาคี