“พระกลีบบัว พิมพ์ใหญ่”
พระปลัดบุญ วัดชีว์ประเสริฐ ท่านเ

“พระกลีบบัว พิมพ์ใหญ่”
พระปลัดบุญ วัดชีว์ประเสริฐ ท่านเป็นชาวเมืองเพชร เกิดในราวปี พ.ศ.2380 เมื่ออายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบทที่วัดป้อม สืบไม่ได้ว่าท่านผู้ใดเป็นพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด เมื่ออุปสมบทแล้วท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป้อม ต่อมาวัดชีว์ประเสริฐขาดเจ้าอาวาส ทางคณะสงฆ์จึงได้ส่งหลวงปู่บุญจากวัดป้อมมาเป็นเจ้าอาวาส ประมาณปี พ.ศ. 2420 เมื่อท่านได้มาเป็นเจ้าอาวาสแล้วท่านก็ได้พัฒนาวัดชีว์ประเสริฐโดยได้สร้าง พระอุโบสถในปี พ.ศ.2425 และได้สร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดชีว์ประเสริฐเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ หลวงปู่บุญมรณภาพในราวปี พ.ศ.2450 สิริอายุได้ 70 ปี

หลวงปู่บุญได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น ตะกรุดโทน มีสองขนาดคือขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ประสพการณ์ของเจ้าของตะกรุดคือยิงไม่ออก จนโด่งดังไปทั่วเพชรบุรี มีคนที่ได้ตะกรุดจากหลวงพ่อไปและใช้ติดตัวตลอด วันหนึ่งเขาได้อาบน้ำในแม่น้ำเพชร สายตะกรุดเกิดขาดตะกรุดจมน้ำหายไป จึงเกิดความเสียดาย ขึ้นจากน้ำแล้วรีบไปหาหลวงปู่ที่วัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนักเพื่อจะขอตะกรุดใหม่ เมื่อไปถึงยังไม่ได้พูดอะไร หลวงปู่ก็ส่งตะกรุดให้ ซึ่งเป็นตะกรุดดอกเดิมที่หลุดหายไปขณะอาบน้ำและยังเปียกน้ำอยู่เลย

นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างพระเครื่องไว้ 3 แบบ คือพระผงสามเหลี่ยมสร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณ แล้วเคลือบรักไว้ ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธ ด้านหลังเป็นยันต์นะ พระกลีบบัว สร้างด้วยเนื้อผงผสมว่านคลุกรัก มีสามพิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ ด้านหน้าเป็นพระพุทธ ขัดสมาธิเพชร ด้านหลังไม่มียันต์แต่เป็นรอยกาบหมาก พิมพ์กลางค่อนข้างชะลูดกว่าพิมพ์ใหญ่ ด้านหน้าคล้ายกัน ด้านหลังเป็นยันต์ นะ อะ และยันต์ใบพัด พิมพ์เล็กด้านหน้าคล้ายกัน ด้านหลังเป็นยันต์นะ พระปิดตาของหลวงปู่บุญนับว่ามีชื่อเสียงมากที่สุด คนสมัยก่อนมักเรียกว่าพระปิดตาวัดชีปเกิด เป็นพระเนื้อผงผสมว่านคลุกรัก ลักษณะเป็นพระนั่งขัดสมาธิเพชร ยกมือปิดหน้าสองข้าง ด้านหลังอูมเล็กน้อย มียันต์นะ อยู่ตรงกลาง พระทั้งหมดของหลวงปู่บุญมีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะพระปิดตา เด่นทางด้านเมตตามหานิยม และเป็นที่นิยมกว่าพระพิมพ์อื่นๆ ปัจจุบันหาดูยาก ทั้งตะกรุดและพระเครื่องของท่าน
…ศึกษาก่อนสะสมครับ มีทั้งแท้ทัน แท้ไม่ทัน และของเลียนแบบครับ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากคุณลือศักดิ์ รอดชูแสง คุณแทน ท่าพระจันทร์ และสมุดภาพพระคณาจารย์จังหวัดเพชรบุรี






โดยสมาชิก ชื่อ อ้น วรฤทธานนต์
จากกลุ่ม ชมรมพระเนื้อผงมาตรฐานสากล