หลวงพ่อนาก
ตักกว้าง 36.5 เซนติเมตร สูง 48 เซนติเมตร สูง

หลวงพ่อนาก
ตักกว้าง 36.5 เซนติเมตร สูง 48 เซนติเมตร สูงพร้อมฐาน 85 เซนติเมตร
อายุสมัย :
พุทธศตวรรษที่ 21
ลักษณะ :
หลวงพ่อนาก เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ พระองค์สีนากสุกปลั่ง เนื่องจากเนื้อสัมฤทธิ์มีส่วนผสมของทองคำจำนวนมาก เหตุนั้นจึงได้รับการขนานนามว่า หลวงพ่อนาก ลักษณะพุทธรูปแสดงปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร คือ นั่งไขว้พระบาท แลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง เหนือฐานบัวหงาย (องค์ถอดจากฐานได้) พระรัศมีรูปดอกบัวตูมทำด้วยไม้ ภายในพระเศียรมีช่องสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพักตร์อิ่ม พระเนตรเหลือบต่ำจนเกือบปิดสนิท แสดงลักษณะขณะเสวยวิมุติสุข ที่ฝ่าพระบาทสลักลายจักรและลายมงคล รอบฐานเขียงมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลีสันสกฤต กล่าวถึงพระยายุธิษฐิระ เจ้าเมืองพะเยา เป็นผู้สร้าง ดังนี้
เอกตฺรินวอษฺฏกปิวสฺสมาฆมาสศุกฺกปกฺขปญฺจ มิอาทิตฺยวารอุตฺตรภทฺรนกฺษตฺรโสริยาเมติปิฏกธรอภินวโภชราชราชายุธิษฺฐิรรามราชิสฺ สรปรมสูรวงฺสธมฺมิโกสมฺมาสมฺพุทฺธกวตฺถายิมํจุทฺทสสหสฺสปฺปมาณสุวณฺณมยํ สมฺพุทฺธพิมฺพํกโรต คำอ่าน : เทิม มีเต็ม (พ.ศ. 2530)
ศักราช 1398 เดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ วันอาทิตย์ อุตรภัทรนักษัตร โสริยาม พระราชาผู้เป็นใหญ่ ทรงพระนามว่า “พระเจ้ายุธิษฐิรราม” เป็นพระราชาผู้ครองเมือง “อภินว” ทรงประสูติในวงศ์ของนักรบ ผู้กล้าหาญเป็นเยี่ยม ทรงประกอบด้วย (ทศพิธราช) ธรรม แตกฉานพระไตรปิฎก ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทอง (สำริด) องค์นี้ มีน้ำหนักประมาณสิบสี่พัน (14,000) เพื่อดำรง (พระศาสนา) ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้
คำแปล : บุญเลิศ เสนานนท์ (พ.ศ. 2530) ถอดความโดยสังเขปว่า มหาศักราช 1398 (พ.ศ.2019) ปีวอก เดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ วันอาทิตย์ พระยายุธิษฐิระได้สร้างพระพุทธรูปสำริดองค์นี้ขึ้น โดยใช้ (ทอง) สำริดประมาณ 14,000 เพื่อดำรงพระศาสนา
ประวัติหลวงพ่อนาก ค้นพบจากการลักลอบขุดเจดีย์โบราณวัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค ปัจจุบันคือวัดบุนนาค ตำบลดงเจน อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2460 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ลักลอบขุดพร้อมของกลางได้ที่จังหวัดลำปาง และเก็บรักษาหลวงพ่อนากพร้อมโบราณวัตถุอื่นๆ ไว้ที่จังหวัดเชียงราย เพราะขณะนั้นพะเยาขึ้นอยู่กับจังหวัดดังกล่าว ต่อมาหลวงอดุลยธารณปรีชาไวท์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงราย ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2469 ต่อมาได้พระราชทานแก่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร โดยประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ตราบจนทุกวันนี้
ประวัติ :
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทาน
สถานที่จัดแสดง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ





โดยสมาชิก ชื่อ Chai Chatchawankit
จากกลุ่ม พระบูชาสมัยต่างๆและพระบูชาพระแก้ว 25 พุทธศตวรรษ ( แบบมาตรฐานสากล )