พระสังกัจจัจจายน์ วัดเกรินกฐิน จ.ลพบุรี รุ่น มหาลาภ
~~

พระสังกัจจัจจายน์ วัดเกรินกฐิน จ.ลพบุรี รุ่น มหาลาภ
~~~~~~~~>พระสังกัจจายน์ หรือ พระมหากัจจายนเถระ เป็นพระอรหันต์ พุทธอัครสาวก อีกทั้งยังเป็นผู้มีปัญญามาก ถือได้ว่าเป็นเอตทัคคะ คือ เลิศทางอธิบายความ ในพระพุทธศาสนาตามความเชื่อพระสังกัจจายน์ตาม คตินิยมของศาสนาพุทธ เป็นคนละองค์กับพระสังกัจจายน์ของจีนที่เป็นภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ศรีอาริยเมตไตรย ในคตินิยมทางพุทธศาสนานิกายมหายานเชื่อกันว่าสักการบูชาพระสังกัจจายน์ นั้นเพื่อให้บังเกิดความเป็นสิริมงคล 3 ประการคือ

1. เพื่อจำเริญโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ ด้วยว่าพระสังกัจจายน์นั้นได้รับการยกย่อง ให้เป็นพระผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์ ตลอดจนลาภสักการะ ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีความเชื่อกันอีกว่า ท่านเป็นเลิศในเมตตามหานิยมทั้งปวงเสมอด้วยพระสิวลี

2. เพื่อจำเริญในทางสติปัญญาเนื่องจาก พระสังกัจจายน์ ได้รับการสรรเสริญจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นพระอรหันต์ผู้มีปฎิภาณเฉียบแหลม เป็นเลิศในทางอธิบายความ

3. เพื่อจำเริญความสง่างามและความมีเสน่ห์ เนื่องจากเพราะก่อนที่ท่านจะอธิษฐานนิมิตให้รูปร่างเปลี่ยนแปลง พระสังกัจจายน์ เป็นพระอรหันค์ผู้มีผิวดั่งทองคำและมีรูปงามละม้ายเหมือนพระพุทธเจ้า จนแม้แต่เทพยดา พรหม มนุษย์ทั้งปวงพากันรักใคร่ชื่นชม
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าแต่เดิมนั้น พระสังกัจจายน์ เป็นผู้มีรูปกายงดงามสง่า ผิวพรรณสุกใสเปล่งปลั่งดั่งทองคำ เนื่องจากอานิสงส์ที่เคยถวายทองคำ ในการก่อพระเจดีย์ในอดีตชาติ พระสังกัจจายน์ เกิดในสมัยพุทธกาล ณ กรุงอุชเชนี เป็นบุตรของตระกูลพราหมณ์ “กัจจายนะโคตร” เมื่อชาตะกาล ผู้บิดาเห็นทารกน้อย มีผิวพรรณสุกใส เปล่งปลั่งดั่งทองคำ จึงตั้งชื่อว่า “กัญจนะ”แปลว่าทองคำ เมื่อเจริญวัยได้ฟังพระธรรมของพระพุทธองค์ ที่วัดเชตวัน ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล จนบรรลุพระอรหัตผลก่อนบรรพชา และพระพุทธเจ้า ประทานการบวชด้วยพระองค์เองด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระบรมศาสดาตรัสว่า

“จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่ดีที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”

สาเหตุหนึ่งที่ท่านอธิษฐาน ให้มีรูปกายไม่งาม คือพระมหากัจจายนเถระ มีรูปร่างดงาม สง่า คล้ายกับพระพุทธเจ้า จึงได้รับการขนานนามว่า “พระควัมปติเถระ” เมื่อออกบิณฑบาต ณ ที่ใด มนุษย์ และเทวดา ต่างสำคัญว่าเป็นพระพุทธองค์เสด็จมาโปรด ต่างพากันมาแซ่ซ้องสรรเสริญว่า
“ชาวเราเอย พระบรมครูเสด็จมาโปรดชาวเราแล้ว”
เมื่อสดับคำดังนั้นพระมหากัจจายนเถระ หาได้ได้ยินดีไม่ เห็นว่าการสำคัญผิดดังนี้ มิบังควรให้เกิดขึ้นอีก จึงอธิษฐานขอให้มีรูปกายไม่งาม
ส่วนอีกตำนานหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ พระมหากัจจายนเถระ เนื่องจากครั้งหนึ่งได้จาริกเข้าไปในโสเรยยะนคร เพื่อบิณฑบาต มีกุลบุตรของเศรษฐีผู้หนึ่งนามว่า “โสเรยยะ” หรือ “โสไรย” ได้พบเห็นรูปกายอันงามของท่าน จึงบังเกิดความชื่นชมยินดี และเกิดอกุศลจิตรำพึงขึ้นว่า
“เราน่าจะได้พระเถรเจ้านี้เป็นภริยา หรือไม่แล้ว ก็ขอให้ภริยาของเรา ได้มีวรรณะแห่งสรีระงดงาม ดั่งพระเถรเจ้ารูปนั้น”
ด้วยจิตอกุศลนั้น ทำให้โสเรยยะ กลายเพศเป็นสตรีทันที เมื่อเกิดความละอายจึงหนีเตลิดเปิดเปิงไปถึงเมืองตักศิลา แล้วก็ได้พบกับบุตรของเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ซึ่งยังเป็นโสด เมื่อบุตรเศรษฐีได้พบเห็นโสเรยยะ ซึ่งกลายเป็นหญิงที่งดงาม จึงเกิดความเสน่หาและแต่งงานอยู่กินกับนางโสเรยยะ จนมีบุตรด้วยกัน 2คน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ขณะเป็นชาติบุรุษก็ได้มีบุตรแล้ว 2 คน กับภริยาที่โสเรยยะนคร ซึ่งเป็นบ้านเกิดนั่นเอง ต่อมาโสรเรยยะได้พบกับสหาย ซึ่งมาทำการค้าที่เมืองตักศิลา สหายนั้นได้แนะนำให้เข้าไปสักการะ พระมหากัจจายนเถระ ซึ่งได้เดินทางมาที่เมืองตักศิลาเช่นกัน หลังจากที่โสเรยยะ ได้เข้าขอขมา แลถวายภัตตาหารอันประณีตให้พระมหากัจจายนเถระแล้ว จึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทราบ ครั้นพระมหากัจจายนเถระได้ฟัง แล้ว เกิดความสังเวช เพื่อมิให้ผู้ใดหลงใหลในรูปกายจนเกิดเป็นวิบากกรรมเช่นนี้อีก จึงอธิษฐานให้มีรูปกายอ้วนท้วน มีพุงใหญ่ยื่นออกมา หาความงามในสรีระมิได้เลย ส่วนนาง โสเรยยะเมื่อพระมหากัจจายนเถระเอ่ยปากยกโทษให้จึงกลับเป็นบุรุษเพศดังเดิม แต่โสเรยยะเกิดความขมขื่น และเศร้าสลดใจ จึงไม่ปรารถนาจะครองเรือนอีกต่อไปและตัดสินใจออกบวชไปกับพระมหากัจจายนเถระ จนได้บรรลุอรหันตผล นามว่า “พระโสเรยยะเถระเจ้า”

สำหรับพระสังกัจจายน์ที่นำมาลงให้ชมกัน เป็นพระสังกัจจายน์ รุ่น ” มหาลาภ” หน้าตัก 5 นิ้ว ฐานกว้าง 6 นิ้ว และมีความสูงจากฐานประมาณ 7นิ้ว มีโค้ดตอก “ว.ฐ” กำกับที่บริเวณฐานด้านหลัง พร้อมเหรียญโภคทรัพย์ฝังอยู่บริเวณใต้ฐาน ที่สร้างสำหรับแจกเจ้าภาพกองกฐิน พร้อมกับพระสังกัจจายน์ขนาดเล็ก ในวาระงานกฐิน ณ วัดเกริ่นกฐิน บ้านหมี่ ลพบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำปัจจัยมาสร้างพระพุทธปฏิมาปางถวายเนตร ความสูง 29 ศอก และอาคารที่พักของพุทธสาสนิกชน ที่อยู่ในพุทธอุทยาน ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ปฏบัติธรรม ภายในวัดเกริ่นกฐิน ในวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555 นี้ องค์นี้เพิ่งจะได้รับมาจากวัดจ้า เลยขอลงโชว์ไว้ให้ชื่นชมความงามของพุทธศิลป์เท่านั้น ไม่ได้เปิดราคา ส่วนเรื่องความเข้มขลังของพระชุดนี้ไม่ต้องพูดถึง หากเอ่ยถึงพระเกจิอาคมขลังของยุคปัจจุบัน “หลวงพ่อเพี้ยน แห่ง วัดเกริ่นกฐิน” ย่อมเป็นองค์หนึ่งที่ติดอันดับต้น ๆ อยู่แล้ว นอกจากพระสังกัจจายน์องค์งามนี้อาจมีรายการอื่น ๆ







โดยสมาชิก ชื่อ Ahpao Jirawat Su
จากกลุ่ม พระพุทธรูป พระบูชาทุกวัด ทุกสำนัก (เน้นพระบูชา)