พระบูชาเจ้าแม่อยู่หัว แม่เจ้าอยู่หัว วัดท่าคุระ อ.สท

พระบูชาเจ้าแม่อยู่หัว แม่เจ้าอยู่หัว วัดท่าคุระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ตำนานความศักดิ์สิทธิ์สร้างพลังศรัทธาดุจมีชีวิต หน้าตัก 5 นิ้ว ฐาน 7 นิ้ว สูง 12 นิ้ว สูงใหญ่ งดงาม อลังการ เนื้อกระเบื้อง หลังคาโบสถ์ 0 8 9 1 9 7 1 2 3 4

ตำนานเจ้าแม่อยู่หัว…จากปากคำของคนเก่าที่เล่าต่อกันมาระบุว่า ตำนาน “เจ้าแม่อยู่หัว” เริ่มจาก “พระหน่อ” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโอรสเจ้าเมืองเมืองหนึ่งในสมัยสุโขทัยตอนปลายต่ออยุธยาตอนต้น (บางเสียงว่าคือเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) วันหนึ่งเมื่อพระหน่อมีพระชนม์ได้ 9-10 พรรษา ได้หายสูญไปขณะลงสรงน้ำที่ท่าน้ำ พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับสั่งให้ทหารออกติดตามแต่ก็ไม่พบ ขณะนั้น ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองพัทลุง (เมืองพัทลุงเดิม ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) มีตาพรหมกับยายจันตั้งบ้านเรือนอยู่ ตาพรหมได้ไปพบ “พระหน่อ” และนำกลับมาเลี้ยงดูที่บ้านทหารของเจ้าเมืองออกตามจนมาพบพระหน่ออาศัยอยู่กับสองตายาย จึงนำความกลับไปกราบทูล พระราชบิดาและพระราชมารดา ทราบความจึงเสด็จมารับพระหน่อกลับ พระราชมารดาได้รับสั่งให้นายช่างทองตีทองเป็นแผ่นกว้าง แล้วสลักรูปพระหน่อลงในแผ่นทอง มอบให้ตาพรหมยายจัน แผ่นทองคำสลักรูปพระหน่อนี้เรียกกันว่า “เจ้าแม่อยู่หัว” เนื่องจากพระราชินี หรือเจ้าแม่อยู่หัวทรงเป็นผู้มอบให้ …”ภายหลังมีคนโลภได้ขโมยตัดแผ่นทองคำไปทีละเล็กทีละน้อย ชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจว่าให้นำแผ่นทองคำไปหลอมเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร โดยยังคงเรียกกันว่า “เจ้าแม่อยู่หัว” เป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย แต่เดิมมีการสร้างพระพุทธรูปอีก 2 องค์เรียกว่า “พระพี่เลี้ยง” ต่อมาหายไป 1 องค์ จึงเหลือพระพี่เลี้ยงอยู่เพียงองค์เดียว ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าคุระแห่งนี้ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชุมชนมานานหลายร้อยปีและเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกหลานชาวท่าคุระและพื้นที่ใกล้เคียงตลอดมา” พระครูพิพัฒน์ธรรมจารี เจ้าอาวาสวัดท่าคุระ บอกเล่า ‘ตายายย่าน’ รวมลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัว วันพุธแรก ข้างแรม เดือนหก คือ ฤกษ์ดีที่พระราชบิดาและพระราชมารดาเสด็จมารับพระหน่อกลับตามที่ระบุไว้ในแผ่นทองคำ ถูกกำหนดให้เป็นฤกษ์สำหรับประกอบพิธีตามประเพณี “ตายายย่าน” (“ตา-ยาย” หมายถึงบรรพบุรุษ ส่วน “ย่าน” หมายถึง เทือกเถา) หรือ “พิธีสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว” ที่วัดท่าคุระเป็นประจำทุกปี ไม่เพียงชาวบ้านท่าคุระ แต่รวมไปถึงชาวอำเภอสทิงพระ ระโนด กระแสสินธุ์ และอำเภออื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่แถบลุ่มทะเลสาบสงขลา รวมไปถึงลูกหลานที่เดินทางย้ายถิ่นไปทำงานยังพื้นที่อื่นๆ ที่ยังคงเดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อร่วมพิธีนี้ กิจกรรมพิธีสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว เริ่มตั้งแต่วันพุธในช่วงเช้าด้วยการทอดผ้าป่าประจำปี จากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการเชิญพระพุทธรูป “เจ้าแม่อยู่หัว” ออกจากผอบที่ประดิษฐานให้ประชาชนได้สรงน้ำ โดยเวลาประมาณ 14.00 น. เริ่มพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ชุมนุมเทวดา พระเถรานุเถระประจำอาสนะ 9 รูป สวดชัยมงคลคาถา แล้วจึงทำการเปิดผอบ”เจ้าแม่อยู่หัว” จะถูกอัญเชิญออกจาก ห่อผ้า 9 สี 9 ชั้น ทางวัดจะเตรียมเครื่องเชี่ยนหมาก 1 สำรับ ขนมลา ขนมพอง 1 สำรับ ผ้าตั้งและผ้าคู่ 1 ชุด สำหรับใช้เปลี่ยนพระภูษาทรงขององค์แม่เจ้าอยู่หัว เพื่อให้ลูกหลานสรงน้ำ ระหว่างสรงน้ำลูกคุ่มโนราห์เชิดเครื่องไปจนเสร็จพิธี ศรัทธาในเจ้าแม่อยู่หัวเห็นได้จากบรรดาพ่อแก่แม่เฒ่าไปจนถึงคนรุ่นหนุ่มสาว ที่มาเข้าแถวรอตั้งแต่ก่อนเวลาเชิญแม่อยู่หัวออก และยินดีจะรอต่อไปอีกนานนับชั่วโมงท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว พร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบลอยดอกมะลิ แดดแรง ลมร้อน รอนาน…แต่สีหน้าและแววตาของทุกคนบอกว่า นานแค่ไหนก็รอได้ เพื่อจะได้สรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว ตามศรัทธาที่สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ช่วงค่ำคืน หนึ่งในกิจกรรมที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง นั่นคือการสมโภชโดยการรำ “โนราห์โรงครู” ซึ่งหมายถึง การรำโนราห์อย่างพิธีกรรมตามแบบฉบับดั้งเดิมอย่างครบกระบวนการ เริ่มด้วยการตั้งเครื่องโหมโรง ประกาศเชิญราชครู รำเบิกโรง รำแม่บท ออกพราน รำคล้องหงส์ รำแทงเข้และแสดงเรื่อง ถือเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญในวงการโนราเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะเป็นพิธีกรรมเพื่อเชิญครูหรือบรรพบุรุษของโนรามายังโรงพิธี เพื่อรับ การเซ่นสังเวย เพื่อรับของแก้บน และเพื่อ “ครอบ” หรือผูกผ้าแก่ผู้แสดงโนราห์รุ่นใหม่ “ครู” ตามความหมายของโนราห์มีสองความหมาย ประการแรกหมายถึง ผู้สอนวิชาการร้องรำโนราแก่ตนเอง หรือแก่ บรรพบุรุษของตน ความหมายที่สอง หมายถึง บรรพบุรุษหรือผู้ให้กำเนิดโนรา เช่น ขุนศรีศรัทธานางนวลทองสำลี และแม่ศรีมาลา บรรพบุรุษตามความหมายนี้ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตายายโนราห์” ว่ากันว่า เจ้าแม่อยู่หัวโปรดปรานการแสดงโนราห์ ในสมัยก่อนที่เรือยนต์ยังเป็นพาหนะหลักในการเดินทาง โนราห์ที่ขึ้นท่าหน้าวัดท่าคุระ ถ้าไม่เชิดเครื่องถวายเจ้าแม่อยู่หัวก่อนอาจจะมีอันเป็นไป เช่น นักแสดงเกิดเจ็บป่วย ศรัทธาร้อยคน ร้อยชุมชน นรุ่งขึ้น คือวันพฤหัสบดี จะมีกิจกรรมการแก้บนตามที่บนบานศาลกล่าวไว้ โดยการจัดสำรับ หรือ “หมรับ” ประกอบด้วยขนมพอง ขนมลา ขนมโค ไปรวมกันที่วัด ในการทำขนมเซ่นบวงสรวง หลังจากเสร็จพิธีแก้บนแล้ว ก็จะอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวเข้าผอบโดยห่อผ้า 9 สี 9 ชั้น พระสวดบังสุกุล และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล “เมื่อก่อนการสรงน้ำเขาใช้คนประคององค์เจ้าแม่อยู่หัวใส่ในฝ่ามือให้คนมารด เมื่อก่อนตอนลุงยังเด็กๆ คนยังไม่เยอะ เริ่มเปิดให้สรงน้ำบ่ายสามโมงเย็นถึงห้าโมงเย็นคนก็หมด ทีหลังเมื่อความศรัทธาแผ่ไปทั่ว คนอำเภอสทิงพระไปแต่งงานกับคนที่อื่นกลับมาไม่มาคนเดียวต้องเอาครอบครัวมาด้วยเป็น 4-5 คน บางคนไปได้ครอบครัวอยู่ถึงเชียงใหม่ก็ต้องพาญาติทางเชียงใหม่มา เพราะฉะนั้นคนจะเพิ่มขึ้นทุกปีจนแน่นวัด อย่างสมัยก่อนมีคนบวชชีแก้บนไม่เกิน 50 คน เดี๋ยวนี้ปีละ 300 คน คนรำมโนราห์แก้บนเมื่อก่อนอยู่ประมาณ 300-400 คน แต่ทุกวันนี้มีเป็นพันคน” ลุงชาติ วัย 57 ปี ชาวบ้านท่าคุระ บอกเล่า “ลูกหลานไปอยู่ต่างที่ต่างถิ่น ไปอยู่ที่ไหนก็บนได้ นึกถึงเจ้าแม่อยู่หัว ถ้าสำเร็จก็จะมาแก้บนกัน แต่ถ้าปีไหนยังไม่พร้อมจะมาก็ยังไม่ต้องมาก็ได้ พร้อมเมื่อไหร่ค่อยมา การ “บน” ก็มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน การค้าขาย ไปจนถึงขอลูก เมื่อ “บน” สำเร็จแล้วก็ต้อง “แก้บน” ไม่ว่าจะบนบวชนาค บนบวชชี ส่วนการบนขอลูกหากได้ลูกชายให้แก้บนด้วยขนมพอง ขนมลา ถ้าได้ลูกสาวให้แก้บนด้วยขนมโค ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง” หลังจากการแสดง “โนราห์โรงครู” หรือการแสดงของนักโนราห์อาชีพ เพื่อถวายเจ้าแม่อยู่หัวผ่านไป ก็เป็นเวลาของนักโนราห์สมัครเล่นทุกเพศวัยที่มารำถวายแก้บนเจ้าแม่อยู่หัว ทำเอาเวทีโนราห์แน่นขนัดไปด้วยผู้คนในชุดโนราห์หลากสีสัน มีบ้างที่บน “ออกพราน” หรือ “ออกทาสี” (แสดงเป็นตัวพรานหรือตัวทาสหญิง) ตามที่แต่ละคนได้บนไว้บางใบหน้าหลับตา ปล่อยใจไปกับท่วงทำนองปี่กลองโนราห์ บางใบหน้ามีน้ำตาไหลอาบด้วยความปลาบปลื้ม ขณะที่บางใบหน้าของโนราห์ตัวเล็กแสดงอารมณ์ของความไม่เข้าใจในความหมายของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว อาจไม่ใช่วันนี้ แต่คงอีกไม่นานที่ความหมายของพิธีกรรมและศรัทธาใน “เจ้าแม่อยู่หัว” จะถูกปลูกฝัง เช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษ คือ “ธรรมเนียม” ที่ไม่เพียงสร้างกำลังใจในการใช้ชีวิต แต่ยังผูกพันลูกหลานที่แตกสานไปต่างถิ่นที่เข้าไว้กับถิ่นฐานบ้านเกิด คือ “ศรัทธา” ที่หาใช่การร้องขอโชคลาภโดยไม่ลงแรง แต่เป็นความเชื่อที่ร้อยรัดลูกหลานในชุมชนไว้กับแผ่นดินที่ฝังรากฝากรก






โดยสมาชิก ชื่อ ชาป้องกัน ณัฐวุฒิ เกิดทิพย์
จากกลุ่ม พระพุทธรูป พระบูชาทุกวัด ทุกสำนัก (เน้นพระบูชา)