หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เก

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เกิดเมื่อราว พ.ศ.๒๔๐๐ ณ หมู่บ้านป่ากะพี้ หมู่ 4 ต.ท่ามะเฟือง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ โยมพ่อชื่อ ชื่น โยมแม่ชื่อ ไผ่ คำชื่น ในวัยเด็กครอบครัวมีฐานะยากจน พ่อแม่จึงมักจะให้ไปเลี้ยงควายเป็นประจำทุกวัน เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ
ดังนั้น หลวงพ่อกล่อมจึงชักชวนน้องชาย ชื่อนายรอด พากันหนีออกจากบ้าน หวังไปผจญโลกข้างหน้า หลังจากหนีออกจากบ้าน ได้ไปพบกับพระธุดงค์ ๒ รูป โดยบังเอิญ รูปหนึ่งชื่อว่า “พระครุฑ” อีกรูปชื่อ “พระเมฆ” ซึ่งกำลังเดินทางไปทางใต้ โดยล่องแพไปตามลำน้ำน่าน หลวงพ่อกล่อมกับน้องชายจึงได้ขออาศัยลงแพร่วมเดินทางไปด้วย

จนมาถึงเมืองบางกอก พระธุดงค์ทั้ง ๒ รูปได้พาหลวงพ่อกล่อมกับน้องชายไปฝากไว้ที่วัดอนงคาราม เขตคลองสาน ในสมัยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอยู่ที่วัดนี้ คือ หลวงพ่อทับ เจ้าตำรับพระปิดตาอันโด่งดังที่สุด หลังจากนั้นท่านได้บวชเรียนเป็นสามเณร เล่าเรียนหนังสืออยู่ที่วัดอนงคาราม มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง ศึกษาตำรับตำราอย่างถ่องแท้

ต่อมาท่านเดินทางกลับมายังบ้านเกิด โดยจำวัดอยู่ที่วัดบึงท่าช้าง (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) อยู่ในเขตบ้านหัวบึง หมู่ ๑ ต.พญาแมน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ขณะจำวัดอยู่ที่วัดบึงท่าช้างนั้น ท่านออกบิณฑบาตไปทางบ้านหัวบึงบ้าง บ้านท่ามะปรางบ้าง บางวันก็ไปบ้านป่ากะพี้บ้าง แต่ละเส้นทางมีระยะไกลๆ การเดินทางก็ลำบาก มีแต่ป่าไม้รกทึบสองข้างทาง โดยเฉพาะบางวันที่ออกบิณฑบาตไปทางบ้านป่ากะพี้ ซึ่งมีระยะทางไกลมาก จนไม่สามารถกลับไปฉันภัตตาหารเช้าทัน ที่วัดจึงจำเป็นต้องแวะฉันเช้าที่วัดป่ากะพี้แทน เป็นอย่างนี้แทบทุกวัน
จนชาวบ้านป่ากะพี้เห็นท่านเหน็ดเหนื่อยมาก ต่อการที่ต้องออกบิณฑบาตเป็นระยะทางไกลๆ จึงพากันเกณฑ์ชาวบ้านช่วยกันทำที่พักให้ใกล้กับต้นจันทร์สามง่าม ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านป่ากะพี้ โดยมีตาไกร เป็นผู้นำชาวบ้านช่วยกันสร้างที่พักสงฆ์ รูปทรงคล้ายกับโรงเก็บยาสูบในสมัยก่อน

เมื่อท่านมีที่พักแล้ว ต่อมาจึงไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยออกเดินทางบิณฑบาตในระยะทางไกลๆ อีก จนต่อมาที่พักสงฆ์ดังกล่าวกลายมาเป็นวัดป่ากะพี้จนถึงทุกวันนี้
หลวงพ่อกล่อมมรณภาพด้วยอาการสงบ ราวปี ๒๔๘๘ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงได้ไม่นาน วัตถุมงคลของหลวงพ่อกล่อมได้สร้าง พระภควัมบดี หรือ พระปิดตา โดยท่านได้แกะแม่พิมพ์พระด้วยตนเอง ด้วยหินฝนมีด เป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า และอีกแม่พิมพ์หนึ่งแกะจากไม้เป็นแผงรูปห้าเหลี่ยมหน้าจั่ว ในแผงมีพระปิดตาพิมพ์เดียวกัน จำนวน ๒๕ องค์ ในอดีตทางวัดได้เก็บรักษาแม่พิมพ์นี้ไว้ ต่อมาได้สูญหายไป
มวลสารที่นำมาสร้างพระปิดตา ได้แก่ ครั่งพุทรา ซึ่งชาวบ้านเก็บมาให้หลวงพ่อ นำมาตำผสมผง ต่อมานายโพธิ์ ชาวบ้านหัวบึง ได้จัดหา “รัก” จาก จ.ลำปาง มาให้หลวงพ่อทำพระปิดตาแทนครั่งพุทรา โดยนำมาประกอบกับส่วนผสมผงพุทธคุณที่หลวงพ่อทำขึ้น โดยใช้ดินสอพองเขียนสูตรมนต์คาถา ลงบนกระดานชนวน ท่องมนต์คาถาแล้วลบเอาผงดินสอพองเก็บไว้ ทำเป็นประจำทุกวัน จนได้ผงพอสมควรแล้ว จึงนำมวลสารต่างๆ ตามตำรามาผสมรวมกัน แล้วกดพิมพ์เป็นองค์พระปิดตา โดยหลวงพ่อจะกดพิมพ์เองเฉพาะวันพระเท่านั้น
การกดพิมพ์จะทำทีละองค์ จนหมดผงที่ผสมไว้ จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้ง แล้วนำมาทำพิธีปลุกเสกเดี่ยว ภายในโบสถ์ ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน (ในพรรษา ๑ ไตรมาส)

สีของเนื้อพระปิดตา ส่วนใหญ่มีเนื้อสีไม่คงที่ มีทั้งดำสนิท น้ำตาลออกแดง (กะลา) เขียว (ก้านมะลิ) บางองค์ออกสีขาว บางช่วงน้ำรักขาดแคลน หลวงพ่อจึงต้องใช้น้ำล้างรักที่ผสมเหลือแทนบ้าง บางทีก็ไม่มีทั้งรักทั้งครั่งพุทรา ต้องใช้ผงล้วนๆ ทำให้สีของเนื้อพระแตกต่างกัน อีกทั้งจำนวนสร้างก็ไม่อาจระบุได้ เนื่องจากหลวงพ่อจะสร้างด้วยแรงศรัทธาเป็นที่ตั้ง

พระปิดตาที่ท่านสร้าง ไม่ได้เพื่อจำหน่าย หรือให้เช่า ผู้ที่จะได้รับต้องไปขอกับท่านเอง นอกจากนี้ท่านมักมอบให้แก่พระภิกษุที่มาลาสิกขา ท่านจะมอบพระปิดตาให้คนละ ๑ องค์เท่านั้น

พุทธคุณ เชื่อกันว่า มีอานุภาพนานัปการ ทั้งเมตตามหานิยม คงกระพัน และแคล้วคลาด ปลอดภัย





โดยสมาชิก ชื่อ วรวุฒิ เฮงเจริญ
จากกลุ่ม พระปิดตายอดนิยมและพระปิดตาทั่วไป