พระปิดตามหาอุตม์ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เนื้อเมฆพัดห

พระปิดตามหาอุตม์ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เนื้อเมฆพัดหลังยันต์(นิยม) หล่อโบราณเก่าจัดจ้านผิ้วหิ้งคราบไคลไรฝุ่นเดิม ผิวพรรณวรรณะเข้มดำ แห้งสนิท พิมพ์หลังอักขระยันต์อยู่ในซุ้มใบโพธิ์ สวย แท้ นิ้วขึ้นครบชัดเจน 10 นิ้ว ไม่สึกไม่หักแต่อย่างใด ดูง่าย แท้ตาเปล่า แต่หายากสุดๆ มาพร้อมกับใบเซอร์สมาคมพระเครื่องครับ

___________________________

พระปิดตามหาอุด หลวงปู่บุญ เนื้อเมฆพัด
ในหนังสือประวัติและการสร้างพระเครื่องของพระพุทธวิถีนายก(บุญ) เป็นหนังสือเล่มวัดเล่มแรก จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม ให้ทำบุญที่วัดกลางบางแก้วเล่มละ ๑๘๐ บาท เขียนโดย อ.สุธน ศรีหิรัญ ได้กล่าวไว้ว่าพระเนื้อเมฆพัด เท่าที่สืบทราบอย่างแน่ชัดมีทั้งสิ้น ๗ พิมพ์ และ ๗ พิมพ์ดังกล่าว ล้วนได้ข้อมูลมาจากผู้ที่ได้รับพระมาจากมาจากหลวงปู่บุญโดยตรงทั้งสิ้น ล้วนแต่เป็นศิษย์ใกล้ชิดกับหลวงปู่และได้รับพระเนื้อเมฆพัดจากมือหลวงปู่บุญ (หลวงปู่แจกให้กับมือหลวงปู่เอง) ซึ่งผู้เขียนบอกว่าอาจจะมีมากพิมพ์กว่านี้แต่ทั้ง ๗ พิมพ์ที่จะกล่าวถึงนี้ ชี้ชัดด้วยประจักษ์พยานการได้รับมากับมือหลวงปู่โดยตรงทั้งสิ้น ผู้เขียนยังได้ฝากไว้ให้เป็นข้อคิดอีกอย่างหนึ่งว่า หลวงปู่บุญกับหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้นั้นมีความสนิทสนมกันมาก ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ และหลวงปู่นาคก็เปรียบเป็นเจ้าตำรับเป็นอาจารย์ใหญ่แห่งเนื้อเมฆพัด ดังนั้นหลวงปู่บุญก็คงจะได้รับสูตรการทำมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยจะพบว่าพระเนื้อเมฆพัดของหลวงปู่บุญ เนื้อสีออกขาบเข้มดำ คล้ายกับพระปิดตาห้วยจระเข้ของหลวงปู่นาคมาก

เนื้อเมฆพัด ทั้ง ๗ พิมพ์มีดังนี้คือ
๑.พระปิดตามหาอุตม์ หลังอักขระสี่ตัว ทุ สะ มะ นิ (หัวใจพระปถมัง)
๒.พระปิดตามหาอุตม์ หลังยันต์เทาะว์
๓.พระพิมพ์สมาธิกลีบบัวหลังปิดตา
๔.พระพิมพ์สมาธิกลีบบัวหลังอักขระสี่ตัว
๕.พระพิมพ์กลีบบัวซุ้มหลังปิดตา
๖.พระพิมพ์หลวงพ่อโตหลังปิดตา
๗.พระพิมพ์บัวเม็ด หลังยันต์ นะ มะ พะ ทะ แล้วมีเฑาะว์ขึ้นยอดอยู่ตรงปลาย

ในที่นี้เราจะขอกล่าวถึงพิมพ์แรกกัน ส่วนพิมพ์อื่นๆถ้ามีโอกาสจะมากล่าวถึงในโอกาสต่อไป

พระพิมพ์นี้เป็นพิมพ์แรกจากที่กล่าวมาคือพระปิดตามหาอุตม์ หลังอักขระสี่ตัว ทุ สะ มะ นิ (หัวใจพระปถมัง)
คติโบราณถือสืบกันมาว่า ปถมังเป็นคัมภีร์แรก ที่ผู้ใคร่ศึกษาวิชาเวทมนตร์พึงจำเป็นต้องเรียนรู้ เพราะเมื่อเริ่มเรียนรู้สูตรในคัมภีร์ปถมังได้แล้ว ก็จะสามารถหัดลงเลขยันต์ต่าง ๆ ต่อไปได้

กล่าวกันว่าที่มาของคัมภีร์ปถมังนี้ เริ่มแรกเมื่อครั้งต้น โลกนี้ยังเป็นที่ว่างเปล่าอยู่ พื้นแผ่นดินยังเพิ่งจะพ้นจากน้ำ เริ่มจะเกิดเป็นพื้นดินขึ้นมา ท้าวสหัมบดีพรหมได้เล็งญาณลงมาแลเห็นดอกบัวโผล่พ้นระลอกน้ำขึ้นมา ๕ ดอก ก็ทราบด้วยญาณว่าในกัปนี้จะบังเกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ เป็นกำเนิดแห่งภัทรกัปอันประเสริฐยิ่ง แล้วจึงได้หยิบหญ้าคาทิ้งลงมาบนพื้นน้ำ น้ำนั้นก็งวดเป็นแผ่นดินขึ้น มีกลิ่นหอม เหล่าพรหมได้กลิ่นง้วนดินต่างลงมาเสพกิน ติดรสง้วนดินนั้นมิอาจกลับคืนสู่พรหมโลกได้ จึงได้ตั้งรกรากเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์สืบมาจนทุกวันนี้ ฉะนั้นก่อนจะเล่าเรียนคัมภีร์ปถมังจึงต้องกล่าวคำนมัสการสหัมบดีพรหมดังนี้

“อังการะพินทุนาถังอุปปันนัง พรหมาสหัมปตินามะ อาทิกัปเป สุอาคะโต ปัญจะปทุมมังทิสวา นะโมพุทธายะวันทะนังฯ”

คัมภีร์ปถมังเริ่มแรกด้วยการทำพินทุ คือแววกลม ถือเป็นปฐมกำเนิด จากนั้นจึงแตกเป็นทัณฑะ เภทะ อังกุ และสิระตามลำดับ สำเร็จเป็นนะปถมังพินทุ
เวลาทำใช้แท่งดินสอพองเขียนลงบนกระดานชนวน มีการเรียกสูตร บริกรรมคาถากำกับตลอด จนสำเร็จเป็นนะปถมัง มีการนมัสการและเสกตามลำดับ ขณะทำมีขั้นตอนและวิธีการที่สลับซับซ้อนพิสดารมาก ผู้สนใจควรศึกษาจากคัมภีร์ปถมังโดยตรง

เนื้อหาของคัมภีร์ปถมังนี้มีทั้งสิ้น ๙ วรรค หรือ ๙ กัณฑ์ แต่ละกัณฑ์เป็นวิธีการทำผงเพื่อฝึกจิตอย่างพิสดารต่างกันไป โดยทุกวรรคหรือทุกกัณฑ์จะเริ่มต้นด้วยนะปถมังพินทุ
จากนั้นจะแยกแยะไปเป็นอุณาโลม อุโองการ องค์พระภควัม หัวใจพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ฯลฯ ต่างกันไปในแต่ละวรรค แต่ทุกวรรคจะจบที่สูญนิพพาน คือ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง เหมือนกันทั้งสิ้น

ดังนั้นอักขระทั้งสี่ตัว ทุ สะ มะ นิ (หัวใจพระปถมัง)
ที่หลังพิมพ์พระที่หลวงปู่ทำขึ้นจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อุปเท่ห์โบราณของอักขระนี้ โดยส่วนใหญ่ ก็ใช้ไปในทางครอบจักรวาล..







โดยสมาชิก ชื่อ กันตภณ บุรพพงษานนท์
จากกลุ่ม พระปิดตายอดนิยมและพระปิดตาทั่วไป